ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ เซเว่น อีเลฟเว่น ได้กลายเป็นคนกำหนดเกมและขับเคลื่อนตลาดค้าปลีกคอนวีเนียนสโตร์ของบ้านเราไปแล้ว เพราะการมีสาขาอยู่ในมือมากถึงกว่าหมื่น สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ในทุกหย่อมหญ้า ซึ่งการเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ของตลาดขึ้นมานี้ ทำให้ เซเว่น อีเลฟเว่น กลายเป็นช่องขายที่สำคัญและเป็นกลุ่มธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มซีพีเป็นจำนวนมาก
หากเปรียบเทียบช่วงระยะเวลา 1 ปีของการดำเนินงานระหว่างปี 2019 กับ 2020 แล้วจะพบว่า จำนวนสาขาในปี 2019 จะมีประมาณ 10,988 สาขา ขณะที่ปี 2020 ( ตัวเลข ณ เดือนกุมภาพันธ์) จะมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 11,712 สาขา หรือมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นในรอบ 1 ปีคือ 724 สาขา โดยมีสัดส่วนร้านสาขาทั้ง 3 ประเภท 1.ร้านสาขาบริษัท 2. ร้านสาขาประเภทร่วมลงทุน (Store Business Partner) และ 3. ร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต (Sub Area) เป็นสัดส่วน 44:49:7 ปัจจุบันมีลูกค้าเข้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เฉลี่ยวันละ 11.8 ล้านคน ทั้งนี้ จำนวนสาขาทั้งหมดจะกระจายอยู่ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล 44% และสาขาในต่างจังหวัดคิดเป็น 56%
เช่นเดียวกับจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ พบว่า ในปี 2019 มีประมาณ 1,185 คน/วัน/สาขา เพิ่มเป็น 1,187 คน/วัน/สาขา ซึ่งนอกจากจำนวนสาขาที่มากสุดในบรรดาเชนค้าปลีกที่มีอยู่ในบ้านเราที่เป็น 1 ในเบื้องหลังความสำเร็จแล้ว เซเว่น อีเลฟเว่น ยังมี 7 กลยุทธ์ที่ถือเป็นตัวช่วยผลักดันความสำเร็จให้เกิดขึ้น ลองมาดูว่ากลยุทธ์ที่เป็น 7 มหัศจรรย์เหล่านั้นจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
1.เรื่องของทำเล ยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่ใช้ได้กับทุกค้าปลีกรวมถึง เซเว่น อีเลฟเว่น แต่ความพิเศษของ เซเว่น อีเลฟเว่น ก็คือ การใช้กลยุทธ์ที่เป็น Same Store ที่ใน 1 ทำเล จะมีสาขาของ เซเว่น อีเลฟเว่น มากกว่า 1 สาขา หลักการนี้เกิดจากการมองเห็นว่า ถ้ามีเพียงสาขาเดียวจะทำให้ตัวเลขการเติบโตของยอดขายทำได้สูงสุดแค่ลิมิต แต่หากมีมากกว่า 1 ตัวเลขรวมของการเติบโตจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
2.การเลือกวางกลุ่มเป้าหมายจะปรับตามโครงสร้างของประชากร อย่างในช่วงแรกที่เปิดกลุ่มเป้าหมายจะเป็นกลุ่มอายุ 5 – 25 ปี แต่เมื่อเปิดมา 20 ปี กลุ่มเป้าหมายจะเปลี่ยนไปตามอายุที่มากขึ้นของกลุ่มเดิมคือ 25 – 45 ปี เป็นหลัก การง่ายๆ ที่ทำให้ลูกค้าเติบโตมาพร้อมกับ เซเว่น อีเลฟเว่น แถมยังเป็นการปรับการเติบโตไปตามโครงสร้างประชากรในกลุ่มที่มีฐานใหญ่ที่สุด
3.วิธีการนำเสนอสินค้าในร้านนั้น จะปรับตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละโลเกชั่น เช่น ร้านที่อยู่ในโลเกชั่นที่ใกล้สถานศึกษาจะต้องการสินค้าอีกแบบ ขณะที่สาขาที่อยู่ในย่านพักอาศัยหรือในออฟฟิศก็ต้องการสินค้าที่แตกต่างกันออกไป
4.เรื่องของพนักงานในร้านก็สำคัญ เพราะเมื่อสาขามีจำนวนมากขึ้น ก็ต้องการพนักงานมากขึ้น จึงเกิดสถาบันปัญญาภิวัฒน์ที่ผลิตบุคลากรเพื่อป้อนให้กับ เซเว่น อีเลฟเว่น โดยตรง เป็นหลักการเดียวกับที่ร้านแมคโดนัลด์ทำนั่นเอง 5.ระบบดิสทริบิวชั่นเซ็นเตอร์ หรือ ศูนย์กระจายสินค้า เป็นอีกหัวใจของความสำเร็จ ศูนย์กระจายสินค้าของ เซเว่น อีเลฟเว่น แข็งแกร่งอย่างมาก สินค้าที่ออกจากซัพพลายเออร์แล้วเข้าในศูนย์กระจายสินค้าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน ในการกระจายเข้าร้านกว่าหมื่นสาขาทั่วประเทศ 6.สร้าง New Occasion ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น จากทิศทางของคอนวีเนียนสโตร์ที่มุ่งมาทางฟู้ด คอนวีเนียน ทำให้มองเห็นโอกาสจากการสร้างดีมานด์ใหม่ๆ อาทิ การสร้างแคมเปญอาหารเช้าที่ถูกมองว่า ยังมีโอกาสในการเติบโตได้ดี หรือการจับคู่กันของเมนูอาหารเช้า รวมถึงการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการขายสินค้า เช่น การนำกล้วยหอมมาขายจนทำให้กล้วยหอมกลายเป็นสินค้ายอดฮิตในร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น
7.แคมเปญโปรโมชั่นในรูปของแสตมป์ หรือการแลกซื้อที่เคยสร้างความฮือฮาให้กับตลาดค้าปลีกในบ้านเรามาแล้วเท่านั้น ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในบ้านเรา ยังกลายเป็นช่องทางที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายๆ ราย เข้ามาแจ้งเกิดด้วยรูปแบบการทำตลาดร่วมกัน โดยเฉพาะการเข้ามาเป็นแบรนด์สินค้า Only @ เซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งแบรนด์อย่างลูกอมเพลย์มอร์ สามารถแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวจากการทำงานร่วมกับเซเว่น อีเลฟเว่น ดังที่กล่าวมา.....
ข้อมูล : https://www.brandage.com/article/20301/7-ELEVEN
Commentaires